[x]ปิดหน้าต่าง


ศูนย์เครือข่าย สมศ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

 

ประวัติความเป็นมา

 เมื่อปี พ.ศ. 2545 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้รับความไว้วางใจจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการประเมินภายนอก โดยจัดอบรมหลักสูตร "การอบรมเพื่อคัดเลือกเป็นผู้ประเมินภายนอกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน" เมื่อมีผู้ประเมินภายนอกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพิ่มมากขึ้นกอร์ปกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ได้ปรับเกณฑ์ และตัวบ่งชี้ ใหม่ ศูนย์ฝึกอบรมจึงได้เพิ่มหลักสูตรการอบรมเพื่อการพัฒนาผู้ประเมินภายนอก จำนวน 2 หลักสูตรคือ หลักสูตร "การอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประเมินภายนอก"  และหลักสูตร "การเตรียมความพร้อมเพื่อรับการประเมิน" ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ศูนย์ฝึกอบรมยังได้รับการติดต่อจากโรงเรียนบริเวณใกล้เคียงให้อบรมเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับการประเมินอยู่เสมอ ดังนั้นศูนย์ฝึกอบรมจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาการประเมินภายนอกให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย จึงได้ประสานงานกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ขอเข้าร่วมเป็นศูนย์เครือข่าย สมศ. ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

   เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 สมศ. ได้แต่งตั้งหน่วยฝึกอบรมฯ ให้เป็นศูนย์เครือข่าย สมศ. จากความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาการประกันคุณภาพการศึกษาระหว่างสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยลงนามในบันทึกความร่วมมือกันเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์เครือข่าย สมศ. ที่ทำหน้าที่ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษา 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ทั้งนี้ สมศ. ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้กับศูนย์เครือข่าย สมศ. ตามบันทึกข้อตกลง

ปัจจุบันศูนย์เครือข่าย สมศ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  ตั้งอยู่ที่เลขที่ 111  อาคารสุรพัฒน์ 1 เทคโนธานี  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  โทรศัพท์  0-4422-4855 โทรสาร 0-4422-4814



บทบาทหน้าที่
 

  1. จัดประชุมกรรมการบริหารศูนย์เครือข่าย สมศ. อย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง และส่งรายงานการประชุมให้ สมศ. ทุกไตรมาส
  2. รายงานผลการดำเนินงานและรายงานสรุปการรับ-จ่ายเงินของศูนย์เครือข่าย สมศ. ทุกไตรมาส โดยส่งรายงานดังกล่าวมายังสมศ.  ภายใน 15 วันนับจากวันที่สิ้นสุดแต่ละไตรมาสตามรูปแบบและแนวทางที่ สมศ.กำหนด
  3. การส่งเสริมและสร้างความเข้าใจ เรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาให้กับสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อพร้อมรับการประเมินคุณภาพภายนอก
  4. การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของผู้ ประเมินภายนอกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา โดยเชื่อมโยงกับระบบ Automated QA ของสมศ.
  5. การส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษาทุกระดับใช้ผลการประเมินในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสถานศึกษารวมถึงการติดตามในเชิงลึกเพื่อการศึกษา เรื่องการนำผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาของสถานศึกษา
  6. การรายงานสถานการณ์ความเคลื่อนไหว การขับเคลื่อนงานด้านประกันคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ และเป็นแหล่งเรียนรู้และให้คำปรึกษาด้านการประกันคุณภาพการศึกษา
  7. การดูแลและให้คำแนะนำแก่นักวิชาการที่ สมศ. จัดให้ศูนย์ละ 1 คน ให้ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ที่ สมศ. กำหนดและมอบหมายอย่างครบถ้วน
  8. งานอื่นๆ ที่ได้รับการประสานงานจากสมศ.

 
คณะกรรมการบริหาร

       คณะกรรมการบริหารศูนย์เครือข่าย สมศ. จำนวน 7 ท่าน ประกอบด้วย

  1. ผู้อำนวยการเทคโนธานี ประธานกรรมการบริหารศูนย์เครือข่าย สมศ.

  2. นางสมเจตน์  ไกรกลาง กรรมการบริหารศูนย์ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ปฐมวัย)

  3. ผศ. ดร.ไพฑูรย์  โพธิสาร กรรมการบริหารศูนย์ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

  4. ผศ. ดร.สุนันท์  ศลโกสุม กรรมการบริหารศูนย์ ระดับการศึกษาอุดมศึกษา

  5. นายสืบพงษ์  รักษาทรัพย์ กรรมการบริหารศูนย์ ด้านการอาชีวศึกษา

  6. หัวหน้าสำนักงานผู้อำนวยการเทคโนธานี เลขานุการ

  7. เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ผู้ช่วยเลขานุการ

 

เขตพื้นที่รับผิดชอบ


                    จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี